วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

3 คำถามการเงิน ที่ควรถามคนรักก่อนแต่งงาน!

 ขอนำส่งเรื่องราวการวางแผนทางการเงินและคำถามที่ควรถามคนรักของท่านก่อนตัดสินใจแต่งงาน เพราะมันเป็นสิ่งที่สำคัญในชีวิตคู่อย่างยิ่ง  ควรมาจับเข่านั่งคุยกัน เพื่อวางแผนชีวิตร่วมกัน

 โดยมี 3 คำถามการเงิน ที่ควรคุยกันดังนี้

1.ปรัชญาทางการเงินของคุณคืออะไร?

ก่อนที่คุณทั้งสองจะเปิดบัญชีธนาคาร หรือวางแผนที่จะซื้ออสังหาริมทรัพย์ร่วมกัน คุณทั้งสองจำเป็นต้องเริ่มทำความเข้าใจภูมิหลังทางการเงินของกันและกันก่อน รวมถึงความคิดที่คุณทั้งสองมีต่อการเงิน และจุดประสงค์ในการใช้เงินในชีวิต นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงความคิดและทัศนคติต่อราคาสิ่งของต่าง ๆ และสิ่งที่พ่อแม่ของคุณทั้งสองสอนมาเกี่ยวกับการเงินค่ะ

2.อะไรคือเป้าหมายทางการเงินของคุณ?

 เพียงเพราะว่าคุณมีรายได้หลายทาง มันก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะสามารถจ่ายได้ทุกสิ่งทุกอย่างที่คุณต้องการใช่ไหมคะ และอีกอย่างคนเราทุกคนย่อมมีความต้องการที่ยิ่งใหญ่และเป้าหมายในชีวิตทุกคน (ซึ่งไม่ใช่ความอยากได้ของใช้ในชีวิตประจำวัน หรือของฟุ่มเฟือยอื่น ๆ) ไม่ว่าจะเป็นการเที่ยวรอบโลก มีรถยนต์ดี ๆ สักคัน มีเงินเก็บหลายล้านบาทก่อนอายุ 35… ซึ่งไม่ว่าเป้าหมายทางการเงินในชีวิตของคุณทั้งสองจะเป็นอะไร แต่หากคุณทั้งสองกำลังจะแต่งงานกัน คุณทั้งสองจะต้องคิดทบทวนและพูดคุยถึงเป้าหมายทางการเงินในชีวิตของกันและกัน เพื่อให้อีกฝ่ายรับรู้และสามารถช่วยคุณให้ก้าวไปสู่เป้าหมายทางการเงินนั้นได้สำเร็จค่ะ

 3.วางแผนงบประมาณการเงินร่วมกันได้หรือเปล่า?

 ก่อนที่คุณจะร่วมหอลงโรงด้วยกัน เราอยากให้คุณถามอีกฝ่ายก่อนว่า “จะวางแผนงบประมาณการเงินร่วมกันได้หรือไม่?” เพราะมีคู่รักจำนวนไม่น้อยนะคะที่ไม่วางแผนงบประมาณทางการเงิน หรือไม่ได้เปิดบัญชีร่วมกัน หลังจากนั้น ก็คุยกับคู่รักของคุณว่า ควรเก็บเงินร่วมกันต่อเดือนเท่าไหร่? มีค่าใช้จ่ายส่วนไหนบ้างที่คุณทั้งสองจะต้องจ่ายร่วมกันหรือต้องแบ่งกันจ่าย? งานแต่งงานของคุณทั้งสองควรมีงบเท่าไหร่ หรือคุณและเขาต้องออกส่วนไหนกันบ้าง? เพราะคำถามข้างต้นเหล่านั้นจะสามารถทำให้คุณรู้ได้ดีว่าเขามีนิสัยทางการเงินอย่างไรบ้าง และมีทัศนคติอย่างไรกับการแชร์ทุกอย่างร่วมกัน เพราะมันคงไม่ดีแน่ค่ะ หากคุณจะต้องออกทุกอย่างเพียงคนเดียว!

อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : TerraBKK.com - http://terrabkk.com/?p=112542

7 วิธี ใช้หนี้ แม้หมุนเงินไม่ทัน


หลายคนอาจจะกำลังเผชิญปัญหาเป็นหนี้ ซึ่งรายได้ที่เข้ามาก็ไม่พอใช้สักเท่าไหร่ แล้วไหนจะต้องแบ่งไปชำระหนี้อีก ยังไม่รวมถึงภาระอื่นๆอีกมากมาย หากกำลังมองหาวิธีการที่จะมาช่วยหมุนเงินให้ทันเวลาละก็ มาถูกทางแล้วครับ

วันนี้เรามาดู 7 วิธี ใช้หนี้ แม้หมุนเงินไม่ทัน จะมีอะไรบ้างไปดูกันเลยครับ

1.ลดค่าใช้จ่าย

 หากสังเกตุได้ว่ารายได้เริ่มจะไม่พอใช้ได้อย่างชัดเจน เราต้องรีบหาทางแก้ไขแล้วแหละครับ โดยการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ใช้ทุกอย่างเท่าที่จำเป็นต้องใช้ เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ ค่าของอุปโภคบริโภคต่างๆ เราไม่สามารถลดส่วนนี้ได้มาก จึงถึงเวลาที่ต้องลดค่าใช้จ่ายด้านบันเทิง อาหารหรูหรา ท่องเที่ยว ให้ด่วนที่สุดครับ

 2.สร้างรายได้มากขึ้น

 ในเมื่อรายได้เริ่มไม่พอใช้ขึ้นเรื่อยๆ ก็ต้องหาอะไรทำสักอย่างเพื่อเพิ่มพูนรายได้สักหน่อย อาจจะหางาน Part-time ทำ อาชีพเสริม หรือทำงานนอกเวลาที่ไม่ส่งผลกระทบต่องานประจำ เพื่อหารายได้เข้ามาให้มากที่สุด โดยมีหลายช่องทางมากมาย เช่น ขายของตามเทศกาลต่างๆ หากไม่สะดวกก็หาสินค้ามาขายออนไลน์ได้อีกด้วยนะครับ

3.หยุดก่อหนี้เพิ่ม

นี่คือสิ่งสำคัญอย่างยิ่งเลยครับ ในเมื่อเราเป็นหนี้อยู่แล้ว ก็ต้องหยุดก่อหนี้เพิ่ม เพราะถ้าต้องจ่ายทั้งเจ้าหนี้เก่า และเจ้าหนี้ใหม่ รับรองเลยว่าแย่แน่ๆ!! บางคนอาจจะใช้วิธีการกดเงินสดจากบัตรเครดิตใบหนึ่งไปเพื่อไปจ่ายหนี้อีกใบ ซึ่ืงดอกเบี้ยสูงมากแน่ และพวกหนี้นอกระบบลืมไปได้เลย จะกลายเป็นหนี้ก้อนโตที่ยากจะชำระคืนอีกด้วย ทางที่ดีชำระหนี้เจ้าเดิมให้หมดก่อนดีที่สุดครับ

4.งดใช้บัตรเครดิต

ปกติหากเราใช้บัตรเครดิตในการจ่ายค่าสินค้าและบริการต่างๆ เพราะสะดวกสบาย ไม่ต้องพกเงินให้หนักกระเป๋า แต่ถ้าเราไม่สามารถชำระบิลเรียกเก็บเงินได้เต็มจำนวน แบบนี้ก็เท่ากับสร้างหนี้บัตรเครดิต ทำให้ตัวเองมีหนี้มากกว่าเดิม ถ้าเทียบกับการใช้เงินสด เวลาเราจ่าย จะทำให้รู้ว่าเงินในกระเป๋ามันหายไปในทันที เห็นกับตาเลยว่า เราใช้เงินไปแล้วเท่าไหร และเราจะรู้สึกว่าไม่ค่อยอยากจะจ่ายอะไรที่ไม่จำเป็น ทำให้ต้องคิดเยอะกว่าเดิม แบบนี้แหละจะได้ระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น

5.รีไฟแนนซ์ช่วยได้

 หากเราใช้หนี้ไม่ไหวจริงๆ มันมีมากเหลือเกิน การรีไฟแนนซ์ช่วยได้ โดยการเจรจากับผู้ให้กู้รายใหม่ หรือรายเดิม ทำการรวมยอดหนี้ทั้งหมดไว้ในก้อนเดียว จะมีหลักทรัพย์ค้ำประกันหรือไม่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของผู้กู้ แต่เราต้องพิจารณาค่าใช้จ่ายและค่าเสียเวลาในการขอรีไฟแนนซ์ด้วยว่า คุ้มค่ามากน้อยแค่ไหน ดอกเบี้ยถูกลงหรือไม่

6.เจรจาขอผ่อนผันกับเจ้าหน้าที่

 จริงๆ แล้วสถาบันการเงินหรือเจ้าหนี้ไหนๆ ก็อยากให้เราคืนเงินจนครบจำนวนกันทั้งนั้น ถ้าเราเข้าไปเจรจาโดยขอลดดอกเบี้ยลง ขอลดอัตราการชำระหนี้ขึ้นต่ำต่อเดือน ยืดอายุหนี้ ยังไงเขาก็ประนีประนอม อย่างน้อยๆ เราก็ได้แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจะชดใช้หนี้ให้เห็นจริงๆ เจ้าหนี้เองก็ไม่อยากให้หนี้เราเป็นหนี้เสีย หรือหนี้สูญ ภาระจะได้เบาลงบ้างครับ

7.วางแผนการเงิน

พอลองคิดๆ ดูแล้ว ที่เราเป็นหนี้ อาจเป็นเพราะเราไม่เคยวางแผนการเงินหรือเปล่า? ที่ต้องทำก็ไม่ได้ยากเลยนะครับ แค่เราต้องแบ่งเงินรายได้ของเราเป็นส่วนๆ โดยแบ่งเป็น เงินสำหรับการใช้จ่าย เงินสำหรับการออม เงินสำหรับการใช้จ่ายก็สามารถแบ่งออกเป็น ค่าใช้จ่ายจำเป็น กับ ค่าใช้จ่ายยืดหยุ่น ซึ่งถ้างบประมาณตรงนี้เราใช้ไม่หมด เราก็สามารถเอาไปไว้ตรงส่วนเงินออมได้อีกด้วยครับ หากใครกำลังเป็นหนี้ก็อย่าเพิ่งท้อกันนะครับ ลองนำวิธีเหล่านี้ไปใช้ รับรองปลดหนี้ได้รวดเร็วและสบายใจอย่างแน่นอนครับ

อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : TerraBKK.com - http://terrabkk.com/?p=126811

7 เคล็ดลับความสำเร็จ นักธุรกิจ SME

ปัจจุบันมีคนหันมาเป็น นักธุรกิจ กันมากขึ้น ด้วยความหวังที่จะสามารถทำสิ่งที่ตนเองรักได้และยืนได้ด้วยลำแข้งของตนเองในระยะยาว แต่การจะทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ถือเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก เพราะต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง ซึ่งการที่ธุรกิจจะประสบความสำเร็จได้ อยู่ที่ตัวผู้ประกอบการเองเป็นหลัก ฉะนั้น คงจะเป็นประโยชน์ต่อคนที่กำลังจะทำธุรกิจของตัวเอง หากได้รู้ว่า บรรดา นักธุรกิจ ที่ประสบความสำเร็จทั้งหลายเขาทำธุรกิจยังไง มีเทคนิคอะไรบ้าง ถึงได้ประสบความสำเร็จ เคล็ดลับของพวกเขามีดังต่อไปนี้

 1. เน้นกระแสเงินสด

นักธุรกิจหลายๆ คนมุ่งแต่จะให้ธุรกิจของตนเองได้กำไรเป็นอันดับหนึ่ง แต่จริงๆ แล้ว เราควรจะให้ความสนใจกับกระแสเงินสดที่หมุนเวียนในบริษัทมากกว่า เพราะเราต้องใช้เงินสดสำหรับค่าใช้จ่ายต่างๆ ถ้ามียอดเงินหมุนเวียนในบริษัทตลอด มีการชำระหนี้ตรงเวลา พยายามให้มีการเรียกเก็บเงินระยะสั้นๆ ปิดยอดไวๆปิดเรื่อยๆ เราก็จะได้ผลตอบแทนกลับมาเอง

 2. ทำงบประมาณรายรับรายจ่ายอย่างเป็นระบบ

นี่คือสิ่งที่ผู้ประกอบการรายย่อยหลายคนมองข้ามไป จนทำให้ไม่สามารถบริหารเงินที่หมุนเวียนในธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ คิดแค่ว่าแค่มีเงินหมุนในธุรกิจตลอด และไม่ขาดทุนก็พอแล้ว อันที่จริงเราควรทำบัญชีรายรับรายจ่ายอย่างเป็นระบบ และทำงบประมาณรายรับรายจ่ายของธุรกิจล่วงหน้าเพื่อดูว่า เมื่อไรที่เราคาดว่าจะขาดเงิน จะได้หาเงินมาเติมสภาพคล่องธุรกิจได้ทัน หรือการเก็บหนี้ของธุรกิจทำได้ดีหรือไม่ สินค้าคงคลังอยู่ในสต็อกเรานานไปไหม เป็นต้น ประโยชน์อีกอย่างคือ พอเรามีการวางแผนล่วงหน้าสำหรับค่าใช้จ่าย จะทำให้เราสามารถออมเงินที่เกิดจากกำไรเผื่อได้ด้วย เพราะรู้ว่าในอนาคตข้างหน้าจะต้องใช้กับอะไรแค่ไหน ที่เหลือก็เก็บเป็นกำไร หรือนำไปออมเพื่อต่อยอดได้เลย

3. ประมาณการความต้องการและกำลังผลิตอย่างต่ำ

 เราต้องประเมินแนวโน้มความต้องการของตลาดเป้าหมายอยู่ตลอดเวลา จากนั้นก็กำหนดสัดส่วนความต้องการ เช่น ถ้าบริษัทผลิตน้ำหอมสำหรับผู้ชาย มีกลุ่มตลาดเป้าหมายที่ใช้เป็นประจำอยู่ที่ 1 ล้านคน ประมาณการส่วนแบ่งการตลาดขั้นต่ำที่ต้องการได้คือ 10% นั่นหมายถึง 100,000 คน จากนั้นก็นำมาคิดด้วยกำลังการผลิตขั้นต่ำของทางบริษัทว่าสามารถทำได้อย่างน้อยกี่ชิ้้นต่อวันแล้วนำไปหักลบกันให้เรียบร้อยเพื่อหากำลังการผลิตว่าสามารถตอบสนองได้หรือไม่นั่นเอง

 4. ใช้แหล่งทรัพยากรจากที่อื่นบ้าง

เราต้องใช้ทรัพยากรที่เรามีในธุรกิจอย่างรอบคอบ ถ้าวันนี้บริษัทเราเพิ่งเริ่ม การจ้างพนักงานประจำมาทำบัญชี จ้างนักกฎหมายมาดูสัญญาระหว่างเรากับลูกค้า หรือสร้างโรงงานของตัวเอง สิ่งเหล่านี้อาจยังไม่จำเป็น เพราะว่า สำหรับการทำบัญชี ช่วงเริ่มแรกเราอาจจะจ้างนักบัญชีมาทำให้ก็ได้ ซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายเพียง 2-3 หมื่นบาทต่อปี เมื่อเทียบกับจ้างพนักงานบัญชีประจำของบริษัทเดือนละ 9,000 บาท เราจะประหยัดเงินไปได้เยอะ ส่วนเรื่องสินค้า เราก็ควรจ้างคนอื่นผลิตก่อน เพราะยังไม่รู้เลยว่าสินค้าจะขายได้ไหม ถ้าลงทุนเปิดโรงงานไปเป็นล้านบาท สุดท้าย ขายของไม่ได้ เงินเราก็จะหายไปกับค่าลงทุนกับโรงงาน เปลี่ยนไปขายอย่างอื่นก็ไม่ได้ เจ๊งกันไป

5. ทำการตลาดผ่านสื่อยุคใหม่

 อย่างที่ทราบกันดีว่า ช่องทางในการสื่อสารมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก มีการใช้โซเชียลมีเดียและสื่อออนไลน์มากขึ้น ทำให้สามารถได้รับข้อมูลจากแบรนด์สินค้าและบริการได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น เราก็ใช้ประโยชน์จากตรงนี้เลยในการโฆษณาและทำการตลาดเพื่อผลักดันสินค้าของเราไปสู่ผู้บริโภค ผ่านทางสื่อออนไลน์ต่างๆ อาจจะเป็นการเขียน Blog เพื่อรีวิวสินค้า สร้าง Face page ใน Facebook อัพเดทรูปสวยๆ ของสินค้าผ่าน Instagram เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพแล้ว ยังแทบไม่ต้องใช้เงินเลยด้วย

6. สำรวจความต้องการของตลาดอย่างสม่ำเสมอ

 ด้วยความที่ตลาดเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เราเองก็อย่าหยุดอยู่กับที่ เราต้องสำรวจความต้องการตลาดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อดูว่า สินค้าที่เรามีอยู่ ยังมีคนต้องการไหม หรือมันตกยุคไปแล้ว เราต้องหาโอกาสใหม่ๆ ที่จะขยายธุรกิจ อาจฟังจากความเห็นลูกค้า หรือสอบถามพนักงานที่อยู่หน้างานของเรา เป็นต้น นอกจากนี้ควรศึกษาคู่แข่ง วิเคราะห์หาจุดแข็ง จุดด้อยของคู่แข่งแล้วลองเปรียบเทียบกับของตนเองเพื่อหาจุดเด่นในการพัฒนาสินค้าและบริการของตนเองให้ล้ำหน้าอยู่เสมอ

7. อย่ากลัวที่จะแตกต่าง

 การนำเสนอสินค้าและบริการที่โดดเด่น ไม่เหมือนใคร ไม่ว่าจะเป็นแพ็จเกจแบบใหม่ การเปลี่ยนส่วนผสมใหม่ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้คือปัจจัยที่จะทำให้สินค้าหรือบริการของเราเป็นที่ดึงดูดใจต่อลูกค้า เพราะความแตกต่างนี่แหละจะทำให้ผู้ซื้อมองเห็นเราและอยากลองซื้อสินค้าและบริการนั้น อีกอย่างที่สำคัญคือ ความแตกต่าง จะทำให้ลูกค้ายอมจ่ายในราคาที่สูงกว่าเพื่อสินค้าหรือบริการที่ไม่เหมือนใคร การจะทำธุรกิจ SME ให้ประสบความสำเร็จได้ แน่นอว่าไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เชื่อว่าหากบริษัทมีการบริหารจัดการที่มี เป็นระบบ มีการวางแผนที่ดี มีการโปรโมทที่เข้ากับยุคสมัย และไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาสินค้าและบริการ รับรองว่าสักวันหนึ่งต้องประสบความสำเร็จได้เหมือนอย่างผู้ประกอบการหลายๆ ท่านแน่นอน

อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : TerraBKK.com - http://terrabkk.com/?p=119288

2 วิธีการ วางแผนการเงิน อย่างง่าย ๆ

ยอมรับนะคะว่าคนส่วนใหญ่ อาจจะใช้เงินเก่ง ใช้เงินเป็น เก็บเงินเป็น แต่มักจะไม่มีแผนการเงินที่ดี ทำให้บางครั้ง หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้นมา เงินขาดมือกันหมด แล้วเราจะทำยังไงถึงจะสามารถมีอิสระภาพทางการเงินเหมือนคนอื่น ๆ เขาได้บ้าง? ยิ่งเป็นมนุษย์เงินเดือน เงินเข้ามา เดี๋ยว ๆ ก็ออกไป เหลือก็ไม่เยอะ ใช้ได้พอดีเดือนก็เรียกได้ว่าสบายแล้วจริงไหม แต่คุณทราบไหม ว่ามีวิธีที่สามารถทำให้มนุษย์เงินเดือนอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ มีอิสรภาพทางการเงินได้ แถมไม่ได้ทำยากด้วยครับ นั่นก็คือ วางแผนการเงิน นั่นเอง แล้วการวางแผนทางการเงินนี่มันจะต้องทำยังไงบ้าง วุ่นวาย ยุ่งยากไหม ไม่ต้องห่วง วันนี้  มี

2 วิธีการวางแผนการเงินอย่างง่าย ๆ มาแบ่งปันให้ทุกท่าน

1. ตรวจสุขภาพการเงินของตัวเราก่อน

 หากเราจะเริ่มวางแผนทางการเงินของเรา เราก็ต้องทราบก่อนว่า ตอนนี้เราอยู่ตรงไหนจริงไหม วิธีการตรวจสุขภาพทางการเงินมีดังนี้ รายได้รวมต่อเดือน – รายจ่ายรวมต่อเดือน = สุขภาพทางการเงิน รวมรายได้ทั้งหมดของเรา (รายได้หลัก รายได้เสริม โบนัส กำไร เงินปันผล ฯลฯ) รวมรายจ่ายทั้งหมดของเรา นำมาหักลบกับรายได้รวมต่อเดือน จำนวนเงินที่เหลือจะบ่งบอกสุขภาพทางการเงินของเรา หากติดลบ แปลว่าสุขภาพทางการเงินของเรามีปัญหา มีรายจ่ายมากกว่าเงินที่หามาได้ ต้องรีบแก้ไขด่วน หากเป็นบวก แปลว่าสุขภาพทางการเงินของเรายังดีอยู่ ควรสั่งสมสินทรัพย์รายได้เพิ่มเพื่อสร้างความมั่งคั่ง ความมั่นคงให้กับอนาคตของเราต่อไปนั่นเอง

 2. การตั้งเป้าหมายการเงิน (ให้เหมาะกับเป้าหมายการใช้ชีวิต)

ชีวิตคนเราในแต่ละช่วงอายุ ก็จะมีเป้าหมายที่แตกต่างกันไป
 ช่วงอายุ 20+ ปี ก็จะมีเป้าหมายเพื่อซื้อสิ่งของ อุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิต และการทำงาน เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ แท็บเบล็ต รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ซื้อคอนโดฯ เป็นต้น
ช่วงอายุ 30+ ปี ก็จะมีเป้าหมาย เป็นการแต่งงานสร้างครอบครัว การซื้อรถยนต์ ซื้อบ้าน การเก็บออมเงินเพื่อเป็นทุนการศึกษาให้ลูก ๆ ต่อไป
 ช่วงอายุ 50+ ปี ก็จะมีเป้าหมายเป็นการเตรียมตัวเกษียณ เตรียมเงินทุนสำหรับช่วงเกษียณของเรา เพื่อที่เราจะได้ใช้ชีวิตอย่างสบาย โดยไม่ต้องพึ่งลูกหลานมากนัก และการเตรียมมรดกให้ลูก ๆ หลาน ๆ เป็นต้น แต่เป้าหมายของแต่ละคนก็มีความแตกต่างกันไป ดังนั้น เราควรคำนึงถึงเป้าหมายชีวิตของเราเป็นหลัก และทำการตั้งเป้าหมายทางการเงินให้เหมาะสมกับเป้าหมายของเรานั่นเองค่ะ หากเรามีความมุ่งมั่นตั้งใจจริง ไม่ว่าใครก็สามารถไปถึงฝันได้เช่นกัน

อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : TerraBKK.com - http://terrabkk.com/?p=131494